หอคอยปราสาท

ปราสาทอินุยามะซึ่งถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 คือปราสาทเพียงไม่กี่หลังจากจำนวนนับหมื่นที่ได้รับการขนานนามว่า “เป็น 1 ใน12 ปราสาทที่ยังมีเค้าโครงเดิมหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน” ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโครงสร้างต่าง ๆ รวมถึงการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมอีกมากมาย ของหอคอยประจำปราสาทซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสมบัติประจำชาติและมีอายุเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นแห่งนี้ไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

ภาพรวมของหอคอยปราสาท (เท็นฉุ)

อะไรคือหอคอยปราสาท หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกกันว่า “เท็นฉุ” ?

“ปราสาท” ของญี่ปุ่นจะถูกสร้างให้ล้อมรอบด้วยคูน้ำ กำแพงหิน และรั้ว เป็นต้น เพื่อเน้นการป้องกันการรุกรากจากภายนอก และภายในจะมีสิ่งก่อสร้างซึ่งดูโดดเด่นเสมือนเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ประจำ “ปราสาท” นี่เองแหละที่ถูกเรียกกันว่า “หอคอยปราสาท (เท็นฉุ)” ซึ่งในช่วงทำสงครามมักจะถูกใช้เป็นหอบัญชาการรบและเป็นป้อมปราการสุดท้ายในการรักษาตัวปราสาทไว้ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยเข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพ มันก็ได้หมดความหมายแต่เดิมในฐานะสิ่งก่อสร้างเพื่อการทำสงครามและกลายไปเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจของผู้ครอบครองแทน

รูปแบบหอสังเกตการณ์ (โบวโรวงาตะ – Borogata) กับ รูปแบบหอคอยซ้อน (โซวโรวงาตะ – Sotogata) (ประเภทของโครงสร้าง)

หอคอยปราสาทของญี่ปุ่น (เท็นฉุ) มีอยู่ 2 ประเภท แบ่งเป็น ① หอสังเกตการณ์ กับ ② หอคอยซ้อน โดยประเภท “หอสังเกตการณ์” คือรูปแบบโครงสร้างที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงแรก ๆ จะมีลักษณะเป็นการสร้างห้องใต้หลังคาทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วให้โผล่ออกมาด้านนอกรอบทิศทางจากบริเวณใต้หลังคาของตั้งแต่ชั้นที่ 2 ขึ้นไป แล้วซ้อนทับขึ้นอีกประมาณ 2~3 ชั้น สำหรับเพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์ (ส่องดูลาดเลา) ซึ่งหอคอยประจำปราสาทอินุยามะก็เป็นหอสังเกตการณ์ตามรูปแบบดั้งเดิมนี้เอง ส่วนประเภท “หอคอยซ้อน” คือลักษณะของการสร้างให้แต่ละชั้นที่มีรูปทรงเดียวกันเรียงซ้อนสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยชั้นที่อยู่สูงก็ยิ่งมีขนาดพื้นที่ที่เล็กลง เป็นรูปแบบโครงสร้างซึ่งถูกคิดค้นตามขึ้นมาในยุคหลัง ๆ

โครงสร้างของตัวหอคอย

หอคอยประเภท “หอสังเกตการณ์” จะแตกต่างจากสิ่งก่อสร้างทั่วไปเพราะความที่ภายในมีห้องใต้หลังคาอยู่ด้วย จำนวนพื้นฝาอาคารกับจำนวนหลังคาจึงมักจะไม่เท่ากัน โดยจะใช้ลักษณะนาม “ชั้น” ที่เขียนด้วยอักษรคันจิคนละตัวและออกเสียงคนละแบบ เพื่อแยกระบุถึงจำนวนชั้นของ “หลังคาที่มองเห็นได้จากภายนอก” (重 – จูว) กับ “จำนวนชั้นของพื้นภายในตัวอาคาร” (階 – ไค) อย่างในกรณีของหอคอยปราสาทอินุยามะ หากมองจากภายนอกและนับตามจำนวนหลังคาแล้วจะเรียกได้ว่ามี “หลังคา 3 ชั้น” (三重 – ซังจูว) แต่ถ้านับจำนวนชั้นข้างในภายใต้หลังคาใหญ่ทั้งหมดแล้วจะได้ว่ามี “ภายใน 4 ชั้น” (四階 – ย่งไค)

ใต้ดินชั้นที่ 1・ ชั้นที่ 2 (ห้องใต้ดินอานะงูระ)

ชั้นใต้ดินชั้นที่ 2 คือประตูและเส้นทางสำหรับใช้เข้า-ออกจากตัวหอคอยซึ่งอยู่ภายในกำแพงหิน โดยโครงสร้างแบบ “ห้องใต้ดินอานางูระ” (เห็นได้ชัดว่าติดเป็นหนึ่งเดียวกันกับกำแพงหิน) จัดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของปราสาทอันเก่าแก่ซึ่งแทบจะหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และด้วยสภาพห้องใต้ดินที่แคบกับบันไดที่สูงชันนี้เอง ทำให้ถึงจะมีศัตรูทะลวงผ่านประตูเข้ามาได้ก็ยังช่วยให้ง่ายต่อการป้องกันและรับมือ

ชั้นที่ 1

หอเล็กที่เชื่อมติดกัน (ทสึเคะยางุระ - Tsukeyagura)

ห้องที่เมื่อเดินขึ้นบันไดมาแล้วสามารถสังเกตเห็นได้ทันทีว่ายื่นออกมาจากทางด้านขวามือนั้น ก็คือห้องซึ่งมีอยู่เพื่อใช้โจมตีและขับไล่ศัตรูที่บุกรุกเข้ามา เรียกว่า “หอเล็กที่เชื่อมติดกัน (ทสึเคะยางุระ)” เป็นจุดที่สามารถมองลงไปเห็นทางขึ้นจากใต้ดินได้อย่างชัดเจนและจู่โจมศัตรูได้ง่าย หากฝ่ายตรงข้ามคิดจะบุกทะลวงฝ่าประตูหน้าเข้ามาก็เล็งยิงด้วยลูกธนูได้เดี๋ยวนั้นเลย เป็นกลยุทธ์ในสมัยโน้นที่เรียกกันว่า “ใช้ธนูขนาบข้าง (โยโคะ-ยะ-งะเคะ)”

ห้องทรงสี่เหลี่ยมคางหมู

เมื่อมองแผนผังของชั้นที่ 1 โดยไล่สายตาจากตำแหน่งของหอเล็กที่เชื่อมติดกันไปทางด้านขวามือ จะเห็นได้ชัดเจนว่าผนังทำมุมองศาเอียงไม่ขนานพอดีไปกับตัวห้องอยู่
ซึ่งในสมัยที่เริ่มก่อสร้าง ตัวปราสาทอินุยามะก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยอิงกับแนวผิวดินเป็นหลักมาตั้งแต่แรก เลยมีการตั้งสมมติฐานกันว่าหรือนั่นจะเป็นเพราะผู้คนในอดีตได้คำนวณไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าหากสร้างไปตามนั้นจะทำให้สามารถมองผ่านจาก “ประตูทางเข้าฮงมารุ” มาเห็นหอคอยปราสาทตั้งเด่นเป็นสง่าที่สุด

ร่องรอยการใช้ใบเลื่อยใหญ่ (โองะ - Oga) กับ ตะปูทรงสี่เหลี่ยม (คาคุคุงิ - Kakukugi)

ภายในตัวหอคอยปราสาทอินุยามะ สามารถสังเกตเห็นเทคนิคการก่อสร้างรูปแบบเก่า ๆ ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่โดนหลงลืมไปแล้วได้ในหลาย ๆ จุดด้วยกัน อย่างเช่น ตรงเสาไม้ที่อยู่ถัดจากหน้าต่าง จะเห็นว่ามีร่องรอยเป็นรูปร่างที่ถูกตัดแต่งด้วย “เลื่อยใบใหญ่ (โองะ)” ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันทั่วไปในช่วงศตวรรษที่ 15
ที่พื้นเองก็จะเห็นว่ามีตะปูทรงสี่เหลี่ยมถูกตอกปิดไว้อยู่ นี่เรียกกันว่า “ตะปูเหลี่ยมหรือตะปูสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ” ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาเรื่อย ๆ จนสักช่วงหลังศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาคนถึงค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนไปใช้ตะปูทรงกลมแทน

ช่องเทหิน (อิชิ โอโตชิ – Ishi Otoshi)

ที่หัวมุมทั้งสองฝั่งด้านทิศตะวันออก-ตะวันตกภายในห้องทางทิศเหนือของชั้นที่ 1 จะมี “ช่องเทก้อนหิน (อิชิ-โอโตชิ)” ซึ่งถูกติดตั้งให้ยื่นออกไปนอกกำแพงหินอยู่ เป็นเครื่องมือป้องกันปราสาทอย่างหนึ่งเอาไว้ใช้เทหินใส่ศัตรูที่พยายามจะปีนกำแพงขึ้นมาให้ร่วงตกลงไป แน่นอนว่าก็มีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ (ช่องเล็ง) สำหรับให้ใช้ปืนหรือธนูยิงใส่ศัตรูได้ด้วยเช่นกัน

ห้องพื้นต่างระดับ (โจดัน โนะ มะ – Jyodan no Ma)

เป็นห้องที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยเอโดะ เป็นเพียงห้องเดียวในหอคอยปราสาทที่มีพื้นยกระดับและถูกปูด้วยเสื่อทาทามิ ผู้ที่สามารถเข้าใช้ห้องนี้ได้มีเพียงแค่ “คนในตระกูลนารุเซะ” ซึ่งเป็นเจ้าของปราสาทในสมัยนั้น หรือ “คนในตระกูลโอวาริ-โทคุงาวะ” ผู้ถือครองปราสาทนาโงย่าและมีศักดิ์เป็นนายเหนือหัวของพวกเขาอีกทีเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นห้องที่มีไว้สำหรับใช้รับรองแขกชนชั้นสูงโดยเฉพาะ ตัวพื้นห้องจึงถูกสร้างมาให้มีความสูงกว่าระดับพื้นปกติหนึ่งขั้น และมีช่องลับซึ่งเรียกว่า "ที่ซ่อนพล (มุชะคาคุชิ)" อยู่ด้านหลังกำแพงฝั่งทิศเหนือไว้เป็นที่แอบซุ่มของเหล่าเวรยามผู้คุ้มกัน
หากสังเกตที่ลวดลายบนขอบเสื่อทาทามิจะทำให้สามารถแยกแยะถึงฐานะของผู้ที่มาพำนักอยู่ ณ ขณะนั้นได้ ยิ่งเป็นลวดลายที่มีความหรูหราโอ่อ่าก็ยิ่งบ่งบอกถึงสถานะที่อยู่สูงและความใกล้ชิดกับโชกุนมากขึ้น เช่น “เป็นขุนนาง (ไดเมียว) ผู้มีศักดิ์เป็นเครือญาติกับตระกูลของโชกุน” หรือ “เป็นขุนนาง (ไดเมียว) ที่มีอำนาจอิทธิพลเพราะเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดโชกุน” เป็นต้น ส่วนลวดลายที่ยิ่งดูเรียบ ๆ ลงมาก็จะหมายถึง “เหล่าขุนนาง (ไดเมียว) ที่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อด้วย” หรือว่าง่าย ๆ ก็คือ “พวกตระกูลขุนนาง (ไดเมียว) ที่เคยเป็นฝ่ายต่อต้านตระกูลโทคุงาวะของโชกุนมาก่อน” ด้วยความที่ห้องนี้ถือว่ามีขนาดกลางไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เลยมีไว้เป็นที่พำนักของเหล่าข้าราชบริพารที่ให้การรับใช้ต่อตระกูลโทคุงาวะมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

ชั้นที่ 2

ทางเคลื่อนพล (มุชะบาชิริ – Mushabashiri) และคลังเก็บอาวุธ (บุกิโคะ – Bukiko)

ห้องที่อยู่ตรงกลางเลยก็คือ “คลังเก็บอาวุธ (บุกิโคะ)” คาดกันว่าในสมัยนั้นข้างในจะรายล้อมไปด้วยชั้นวางเก็บอาวุธและชุดเกราะต่าง ๆ อย่างเช่น หอก หรือ “เกราะโยโร่ย” ของซามูไรญี่ปุ่น เป็นต้น
ส่วนโถงทางเดินขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า "ทางเคลื่อนพล (มุชะบาชิริ)" ก็มีความหมายตรงตามชื่อ คือมีลักษณะเป็นโถงกว้างเพดานสูง ไว้เพื่อให้ในยามทำศึกสงครามพวกทหารจะได้สามารถเคลื่อนผ่านไปง่าย ๆ โดยไม่วิ่งชนกันทั้ง ๆ ที่สวมชุดเกราะและถือหอกอยู่

ชั้นที่ 3

กระดานปิดหน้าหลังคา (ฮะฟุ โนะ มะ – Hafu no Ma)

ในห้องที่ถูกสร้างอยู่ใต้หลังคาของชั้นที่ 2 และในหอสังเกตการณ์ชั้นบน ๆ จะมีหน้าต่างติดอยู่ทั้งสี่ทิศไว้เพื่อรับแสงสว่างเข้ามา ซึ่งจะเรียกจุดที่ใช้ติดหน้าต่างเอาไว้ว่า "กระดานปิดหน้าหลังคา (ฮะฟุ)" โดยในทิศตะวันออก-ตะวันตกจะใช้เป็น "กระดานปิดหน้าหลังคาทรงหน้าจั่ว (อิริโมยะ-ฮะฟุ)" และในทิศเหนือ-ใต้จะใช้เป็น "กระดานปิดหน้าหลังคาทรงจีน (คาระ-ฮะฟุ)" เพื่อแสดงให้ชาวแคว้นมิโนะซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือ และให้ผู้คนในแคว้นบ้านเกิดซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ได้เห็นถึงอำนาจบารมีของตน เพราะคนในสมัยนั้นมองว่าทรงจีนจะดูแพง หรูหรา มีระดับมากกว่าทรงหน้าจั่วนั่นเอง

ชั้นที่ 4

ระเบียงรอบตัวอาคารชั้นบนสุด (มาวาริเอ็ง - Mawarien)・ ราวจับระเบียง (โควรัง - Kouran)

ณ บริเวณด้านนอกห้องของหอคอยปราสาทชั้นที่ 4 จะมี “ระเบียง (มาวาริเอ็ง)” กับ “ราวจับ (โควรัง)” เชื่อมติดอยู่โดยรอบ ซึ่งต่อให้เทียบกันในบรรดา “5 ปราสาทที่ได้รับการยกย่องให้เป็นสมบัติประจำชาติญี่ปุ่น” แล้วนี่ก็ยังเป็นของที่มีอยู่แค่เฉพาะในปราสาทอินุยามะเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทำให้เราสามารถออกมาเดินชมวิวได้ครบถ้วนทุกมุมทั้ง 360 องศา หากมองไปทางทิศใต้ก็จะเห็นเป็น “ที่ราบโนบิ” แผ่กว้างออกไป ถ้ามองตรงไปก็จะเห็นเป็น “เมืองนาโกย่า” ตั้งอยู่ลิบ ๆ โดยมีภูเขาโคมาคิขั้นกลางทั้งยังสามารถเห็น “ตัวปราสาทโคมาคิ” ซึ่งอยู่บนนั้นได้ราง ๆ อีกด้วย และเมื่อมองไปทางทิศตะวันตกกับทิศเหนือจะสามารถทอดสายตามอง “แม่น้ำคิโซะ” กับ “ปราสาทกิฟุ” ได้อย่างไม่ยากเย็นเลย

หน้าต่างทรงระฆังคว่ำ (คะโต้มาโดะ - Katoumado)

ด้านข้างทั้งซ้ายและขวาของประตูสำหรับใช้เปิดออกมายังระเบียงจะมี "หน้าต่างทรงระฆังคว่ำ (คะโต้มาโดะ)" แบบที่มักพบได้ในวัดเก่าแก่ของศาสนาพุทธติดอยู่ทำให้มันดูหรูหราเสียเหลือเกิน แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นเพียงแค่หน้าต่างหลอกที่ไม่สามารถเปิดออกไปได้ มีไว้เพื่อประดับภายนอกให้ดูสวยงามและช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์หน้าตาทางสังคมเท่านั้น