ประวัติศาสตร์

ในอดีตญี่ปุ่นเคยผ่านยุคที่แต่ละแว่นแคว้นใช้กำลังทหารรบพุ่งกันเพื่อยึดครองดินแดนและตัวประเทศทั้งหมดมาแล้ว ซึ่งนั่นก็คือยุคเซ็นโกคุ – สมัยสงครามกลางเมืองที่หลายคนก็น่าจะเคยได้เห็นได้สัมผัส และได้รู้จักกับบุคคลสำคัญหรือเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางสื่อภาพยนตร์กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ตัวปราสาทอินุยามะเองก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่เปลวไฟแห่งสงครามคุกรุ่นอยู่เช่นกัน อีกทั้งด้วยความที่ตัวปราสาทตั้งอยู่ในชัยภูมิสำคัญทำให้มันถูกผลัดเปลี่ยนมือผู้ถือครองไปมาอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสมรภูมิรบสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ภายใต้การนำทัพของเหล่าขุนศึกผู้โด่งดังแห่งยุคเซ็นโกคุแต่ละคน อย่างเช่น “โอดะ โนบุนากะ” ผู้พยายามพิชิตศึกทั่วทุกแว่นแคว้นเพื่อรวมชาติเป็นหนึ่ง “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” ผู้สามารถรวมชาติจนสำเร็จและ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ” ผู้เริ่มสร้างยุคแห่งความสงบสุข

ซึ่งปราสาทญี่ปุ่นแต่ละหลังล้วนถูกสร้างขึ้นมาให้สอดคล้องกับยุทธวิธีการรบของแต่ละแคว้นและเหมาะสมกับบริบทในแต่ละยุค คอยอยู่เป็นฉากหลังของการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยมาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นยังมีราชสำนักเป็นศูนย์กลางการปกครอง ผ่านยุคของเหล่าซามูไรจนมาถึงยุคแห่งความสงบสุข เราจึงอยากเล่าถ่ายทอดประวัติของปราสาทญี่ปุ่นและปราสาทอินุยามะให้ได้ทำความรู้จักกันว่าพวกมันผ่านกาลเวลาอันยาวนานเหล่านั้นมาเช่นไรบ้าง

  • ในแต่ละยุคสมัย
  • ประวัติความเป็นมาของปราสาทญี่ปุ่นและปราสาทอินุยามะ

ยุคหินเก่า

หมู่เกาะญี่ปุ่นเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นแผ่นดินใหญ่ ผู้คนต่างดำรงชีวิตอยู่ด้วยการใช้เครื่องมือหินในการออกล่าสัตว์หรือเก็บรวบรวมวัตถุดิบต่าง ๆ

  • -36000~

ยุคโจมง

ผู้คนเริ่มแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่าง ๆ และสร้างหมู่บ้านของตัวเองขึ้นมา

  • -13000~

ยุคยาโยอิ

แม้ว่าผู้คนจะเริ่มรู้จักการปลูกข้าวและสามารถหาวิธีเก็บรักษาเมล็ดข้าวไว้ได้แล้วก็ตาม แต่นั่นก็นำมาซึ่งการต่อสู้แย่งชิงที่ดิน น้ำ หรือพืชผลต่าง ๆ ระหว่างแต่ละหมู่บ้าน

ภายหลังการสู้รบครั้งแล้วครั้งเล่าในที่สุดด้วยการชี้นำของ “พระนางฮิมิโกะ” ราชินีแห่งอาณาจักรยามาไทบ้านเมืองจึงสามารถรวมเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ

  • -2500~

มีการค้นพบร่องรอยของหมู่บ้านซึ่งมีลักษณะตรงกับที่เรียกกันว่า "หมู่บ้านคูเมือง" อยู่ตามที่ต่าง ๆ พวกมันถูกสร้างขึ้นมาโดยมีรั้ว คูเมือง หรือเขื่อน (กำแพงดิน) ล้อมอยู่รอบ ๆ ถือว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปราสาทญี่ปุ่นซึ่งจะมีบทบาทในฐานะสิ่งที่ช่วยป้องกันการรุกรานจากศัตรูในภายภาคหน้าเลยทีเดียว

ยุคโคฟุง

มีการจัดตั้งอำนาจทางการเมืองที่เรียกกันว่า “รัฐบาลยามาโตะ” ขึ้นมา ณ แคว้นยามาโตะ (จ.นาระ) โดยมีผู้นำจากแคว้นต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย

  • 300

บ้านเรือนซึ่งมีลักษณะถูกสร้างให้คูน้ำอยู่ล้อมรอบได้ปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ โดยเชื่อกันว่านั่นเป็นสิ่งที่เหล่าผู้นำของแต่ละแคว้นทำขึ้นเพื่อเสริมการป้องกันให้กับเคหสถานของพวกเขาเอง

ยุคอาซูกะ

รัฐบาลยามาโตะสร้างพระราชวังขึ้นที่อาซูกะ (ทางใต้ของลุ่มน้ำนาระ) และกลายมาเป็นราชวงศ์ (ราชสำนัก) ที่สามารถรวบอำนาจขึ้นปกครองญี่ปุ่นได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

  • 600
  • 700

พื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่คิวชูลากยาวจรดไปจนถึงทะเลในเซโตะ เนื่องจากความตึงเครียด ความสัมพันธ์ทางการทูต และอะไรอีกหลาย ๆ อย่างในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้มีการสร้าง "ปราสาทบนภูเขาแบบยุคเก่า (ปราสาทบนภูเขาสไตล์เกาหลี)" ขึ้นมา โดยอาศัยชัยภูมิที่มีกำแพงตามธรรมชาติอย่างภูเขาหรือเนินเขา (กำแพงดินหรือกำแพงหิน) ซึ่งทอดยาวติดกันอยู่รอบ ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งในภูมิภาคโทโฮคุ ก็ได้มีการคิดค้นโครงสร้างที่เรียกกันว่า "รั้วปราสาท" ซึ่งมีลักษณะเป็นรั้วทรงสี่เหลี่ยมติดตั้งเอาไว้รอบ ๆ พื้นที่ของหน่วยงานราชการ (สำนักงานของรัฐบาล) เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและควบคุมกลุ่มคนที่ไม่ยอมเชื่อฟังรัฐบาลยามาโตะ

ยุคนาระ

“เฮโจเกียว” ถูกสร้างให้เป็นเมืองหลวง (ที่ตั้งของราชสำนัก) ขึ้นที่นาระ และมีการตั้งพระราชบัญญัติ (กฎหมาย) ขึ้นมาเพื่อวางไว้ให้เป็นรากฐานของชาติและสังคม

ยุคเฮอัน

เมืองหลวงถูกย้ายไปยัง “เฮอันเกียว” ณ เกียวโต สังคมชนชั้นสูงต่างอยู่ดีกินดีมีความมั่งคั่งจึงดำเนินยุคแห่งสันติสุขต่อมาได้เรื่อย ๆ กระทั่งเหล่าเกษตรกรเริ่มไม่พอใจในชีวิตชนบทอันแร้นแค้นแล้วลุกขึ้นมารวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มติดอาวุธ (กลุ่มซามูไร) และขึ้นมามีอำนาจทางการทหารเหนือกว่าราชสำนัก โดยเหตุการณ์สำคัญเลยก็คือ “ตระกูลไทระ” ที่นำโดย “ไทระ โนะ คิโยโมริ” ซึ่งเดิมเป็นผู้ถือครองอำนาจอยู่ก่อนได้ถูกทำลายลงภายใต้เงื้อมมือของ “ตระกูลมินาโมโตะ” ที่นำโดย “มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ”

  • 800

ยุคคามาคุระ

มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ผู้กวาดล้างตระกูลไทระจนสิ้นได้จัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นที่คามาคุระ (“รัฐบาลโชกุนคามาคุระ”) เพื่อให้มีอำนาจทัดเทียมกับราชสำนักซึ่งอยู่ที่เกียวโต แต่หลังการตายของโยริโตโมะก็เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจอย่างดุเดือดขึ้นภายในหมู่ขุนนางที่เคยให้การสนับสนุนรัฐบาลโชกุน จนในที่สุดมันก็ค่อย ๆ สูญเสียอำนาจการปกครองไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันในฝั่งราชสำนักก็กำลังประสบปัญหาเรื่องการสืบราชบัลลังก์ แต่แล้ว “จักรพรรดิไดโงะที่ 2” ก็ลุกขึ้นแข็งข้อต่อรัฐบาลโชกุนโดยหวังว่าจะสามารถทวงอำนาจให้กลับคืนสู่ราชสำนักได้อีกครั้ง และเพราะการแปรพักตร์ของ “อาชิคางะ ทาคาอุจิ” ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลผู้หนึ่งก็ส่งผลให้รัฐบาลโชกุนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับในการต่อสู้ครั้งนั้นเอง

  • 1200
  • 1300

ยุคราชสำนักเหนือ-ใต้

หลังรัฐบาลโชกุนคามาคุระล่มสลาย จักรพรรดิไดโงะที่ 2 ก็ตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาโดยมีราชสำนักเป็นศูนย์กลางอำนาจอีกครั้ง (“การฟื้นฟูเค็มมุ”) แต่ไม่นานก็ถูกโค่นล้มลงด้วยฝีมือของกลุ่มซามูไรที่มี อาชิคางะ ทาคาอุจิ อยู่เบื้องหลังจนจักรพรรดิไดโงะที่ 2 จำต้องหนีเตลิดเปิดเปิงไปยังเมืองโยชิโนะ (จ.นาระ) อีกด้านหนึ่งทาคาอุจิก็ได้ตั้ง “จักรพรรดิโคเมียว” ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ พร้อมทั้งชูนโยบายการปกครองโดยรัฐบาลทหารขึ้นที่เกียวโต แล้วนับแต่นั้นมาจึงกลายเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง “ราชวงศ์เหนือ” ซึ่งอยู่ที่เกียวโต กับ “ราชวงศ์ใต้” ซึ่งอยู่ที่โยชิโนะ จนนำไปสู่การห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจในหมู่กองทัพซามูไรจากแคว้นต่าง ๆ และเกิดเป็นการสู้รบกันอย่างยาวนานต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี

ปรากฏแนวทางการสร้างปราสาทแบบที่เรียกกันว่า "ปราสาทบนภูเขา" ซึ่งเป็นการอาศัยประโยชน์จากชัยภูมิบนเขาสูงหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันช่วยให้ศัตรูยากจะเข้าประชิดได้โดยง่าย พวกของจักรพรรดิไดโงะที่ 2 และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารก็ได้ใช้ปราสาทที่อยู่บนภูเขาเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้กับรัฐบาลโชกุน เลยกล่าวกันว่านั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกองกำลังเล็ก ๆ ถึงสามารถเอาชนะกองทัพขนาดใหญ่ได้ทั้งที่มีกำลังพลแค่ไม่กี่หยิบมือ

จากนั้นรูปแบบกลยุทธ์ศึกก็เปลี่ยนไปเป็นการเลี่ยงไม่บุกปะทะด้วยกำลังซึ่ง ๆ หน้า และคอยหยั่งเชิงรออยู่ตามป้อมปราการรอง (ปราสาทขนาดเล็ก) จนกว่าทัพเสริมจะมาควบคู่กับการสลับโจมตีปราสาทป้อมปราการหลักเป็นพัก ๆ ประหนึ่งสงครามแข่งความอดทน ดังนั้นปราสาทเลยไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างที่ไว้ใช้ป้องกันการถูกรุกรานเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังถูกสร้างไว้เพื่อให้เป็นฐานทัพของทหารอีกด้วย

ยุคมูโรมาจิ

ท่ามกลางความขัดแย้งของราชวงศ์เหนือ-ใต้ “อาชิคางะ โยชิมิตสึ” หลานชายของ อาชิคางะ ทาคาอุจิ ได้สร้างคฤหาสน์ชื่อว่า “วังบุปผา (ฮานะ โนะ โกโชะ)” ขึ้นที่มูโรมาจิ ณ กรุงเกียวโต และเคลื่อนไหวทางการเมืองจนสามารถตั้ง “รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิ” ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่อำนาจแต่ในนามขึ้นมา ด้วยอำนาจทางการเมืองอันล้นเหลือของโยชิมิตสึนั้นเอง ทำให้ราชวงศ์ใต้ยอมปรองดองกับราชวงศ์เหนือและสามารถรวมเหนือ-ใต้เข้าด้วยกันได้สำเร็จ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การปกครองของซามูไร โดยรัฐบาลทหารขึ้นมามีบทบาทเหนือจักรพรรดิและชนชั้นสูงแล้วรักษาความมั่นคงไว้ได้ด้วยการที่โชกุนและเหล่าขุนนาง (ไดเมียว) ผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ยอมจับมือเป็นพันธมิตรกัน

  • 1400

หลังความบาดหมางระหว่างราชวงศ์เหนือ-ใต้สงบลง เหล่าเจ้าผู้ครองปราสาทก็เริ่มทยอยลงจากปราสาทบนภูเขาซึ่งใช้ชีวิตอยู่ได้ไม่ค่อยสะดวกสบายมาสร้างคฤหาสน์อาศัยกันบนพื้นที่ราบแทน ซึ่งคฤหาสน์แต่ละหลังก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีข้อได้เปรียบทางการทหารแต่อย่างใด เพียงแค่เลียนแบบมาจาก "วังบุปผา (ฮานะ โนะ โกโชะ)" ที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจทางการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น

(ยุคเซ็นโกคุ – สงครามกลางเมือง)

ในตอนนั้นตั้งแต่ “อาชิคางะ โยชิโนริ” โชกุนลำดับที่ 6 โดนลอบสับหาร อำนาจศูนย์กลางที่โชกุนก็ค่อย ๆ ลดทอนลง กลุ่มขุนนาง (ไดเมียว) ผู้ทรงอิทธิพลจึงเริ่มเปิดศึกแย่งชิงอำนาจกันเอง ทั้งยังชักพาให้เหล่าขุนนาง (ไดเมียว) จากบ้านนอกรวมทั้งชาวบ้านชาวนาทั้งหลายเข้าสู่วังวนแห่งสงครามไปด้วย เกิดเป็นศึกระหว่างสองฝ่าย (“สงครามโอนิน”) ซึ่งดำเนินต่อมาอีกถึง 11 ปี จนกรุงเกียวโตได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ หลังจากนั้นขุนนาง (ไดเมียว) ของแต่ละแคว้นก็เริ่มแยกตัวเป็นอิสระตั้งเขตอำนาจการปกครองของตนเอง และทำศึกกับขุนนาง (ไดเมียว) แคว้นอื่นที่อยู่โดยรอบเพื่อขยายอาณาเขตออกไป นำไปสู่การสามารถรวมอำนาจจากแว่นแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้ประเทศกลับเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งในกาลต่อมา

โดยในหมู่ขุนศึกทั้งหลายผู้ที่เกือบจะสามารถรวมชาติได้สำเร็จแล้วก็คือ “โอดะ โนบุนากะ” นั่นเอง ซึ่งโนบุนากะแต่เดิมเป็นเพียงแค่บุตรชายคนโตที่เกิดจากภรรยาเอกของขุนนาง (ไดเมียว) บ้านนอกผู้หนึ่งแห่งแคว้นโอวาริ (ทางด้านทิศตะวันตกของจ.ไอจิ) ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ แต่เมื่อได้รับช่วงต่อจากบิดาเขาก็ได้สังหาร “อิมางาวะ โยชิโมโตะ” แห่งแคว้นซุรุงะ (จ.ชิซุโอกะ) ก่อนจะค่อย ๆ สั่งสมอำนาจบารมีในแคว้นโอวาริด้วยหนทางต่าง ๆ เช่นการจับมือเป็นพันธมิตรกับ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ” แห่งแคว้นมิคาวะ (ทางด้านทิศตะวันออกของจ.ไอจิ) เป็นต้น และด้วยความที่สามารถเอาชนะกองทัพของ “โอดะ โนบุคิโยะ” เจ้าของปราสาทอินุยามะในขณะนั้นได้ทั้งแคว้นโอวาริจึงตกเป็นของเขาโดยสมบูรณ์ จากนั้นเขาก็ยกทัพไปกวาดล้าง “ตระกูลไซโต้” แห่งแคว้นมิโนะ (จ.กิฟุ) แล้วเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลของตนออกไปอย่างกว้างขวางโดยมีกิฟุเป็นศูนย์กลาง ต่อมาเขาก็เดินทางไปรับ “อาชิคางะ โยชิอากิ” ซึ่งสูญเสียอำนาจจนต้องระหกระเหินไปตามที่ต่าง ๆ กลับไปยังกรุงเกียวโต และแต่งตั้งให้โยชิอากิเป็นโชกุนพร้อมทั้งช่วยฟื้นฟูรัฐบาลทหารขึ้นมาอีกครั้ง ทว่าด้วยความไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดให้โนบุนากะแล้วยังรั้นจะบริหารราชการตามแนวทางของตัวเอง ซ้ำยังไปสมคบคิดกับเหล่าขุนนาง (ไดเมียว) คนอื่น ๆ เพื่อพยายามจะโค่นล้มโนบุนากะลงเสียอีก จึงทำให้ท้ายที่สุดแล้วโยชิอากิก็ถูกเนรเทศให้ออกไปจากเมืองหลวงและเขตปริมณฑลอย่างไม่อาจหวนกลับ

  • 1500

เมื่อสงครามเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติ ผู้คนก็เริ่มหันไปสร้างสิ่งที่ตรงข้ามกับคฤหาสน์อย่างเช่นที่ผ่าน ๆ มาซึ่งนั่นก็คือปราสาทป้อมปราการไว้เน้นใช้ในการทำศึก เล่ากันว่ามีปราสาทบนภูเขาหลายแห่งถูกสร้างให้อยู่ในชัยภูมิที่เป็นหน้าผา แต่ถึงจะเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเองก็ล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยอาศัยสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ เช่น พวกแม่น้ำ หนองน้ำ บ่อน้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กันทั้งนั้น

อีกทั้งเมื่อขอบเขตของสงครามขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากปราสาทหลักซึ่งเป็นที่พำนักของไดเมียวแล้ว ยังมีการให้สร้างปราสาทรองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังสนับสนุนขึ้นอีกในหลาย ๆ แห่งตามจุดสำคัญต่าง ๆ ภายในอาณาเขตของตัวเองหรือบริเวณใกล้กับชายแดน ด้วยเหตุนั้นจำนวนปราสาทและรูปแบบโครงสร้างจึงมีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนมีทฤษฎีหนึ่งว่ากันว่าปราสาทในยุคนี้มีอยู่ถึงกว่า 50,000 หลัง เลยทีเดียว

1537สร้างปราสาทอินุยามะ

เล่ากันว่า “โอดะ โนบุยาสุ” ผู้มีศักดิ์เป็นอาของ โอดะ โนบุนากะ คือคนสั่งให้ย้าย “ปราสาทคิโนะชิตะ” มาสร้างขึ้นใหม่ (แต่เดิมเคยถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของศาลเจ้าอาตาโกะซึ่งอยู่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทอินุยามะ และมีบริเวณใกล้เคียงกับศาลากลางประจำจังหวัดในปัจจุบัน)

1565โดนยกทัพบุกโจมตีโดย โอดะ โนบุนากะ

“โนบุยาสุ” ออกรบตามคำสั่งของ “โอดะ โนบุฮิเดะ” (บิดาของโนบุนากะ) เข้าโจมตี “ไซโต้ โดซัน” แห่งแคว้นมิโนะ (จ.กิฟุ) และสิ้นชีพในสงคราม (“การบุกโจมตีปราสาทอินาบะยามะ”) บุตรชายของเขานามว่า “โอดะ โนบุคิโยะ” จึงได้รับสืบทอดปราสาทมา ซึ่งเดิมทีโนบุคิโยะก็สวามิภักดิ์ดีต่อโนบุนากะอยู่ช่วงหนึ่งจนไปผิดใจกันเรื่องการแบ่งสรรที่ดินเลยลุกขึ้นก่อกบฏ ในปี ค.ศ. 1564 โนบุนากะจึงบุกโจมตีปราสาทอินุยามะด้วยกำลังทหาร 6,000 นาย พร้อมเผาทำลายบริเวณโดยรอบเสียสิ้น โนบุคิโยะถึงต้องยอมจำนนและออกจากปราสาทอินุยามะหนีตายไปยังแคว้นไค (จ.ยามานาชิ) แล้วทุกอย่างก็จบลงโดยที่ชัยชนะตกเป็นของโนบุนากะ

ภายหลังจากนั้นลูกน้องของโนบุนากะนามว่า “อิเคดะ ทสึเนะโอกิ” ก็ได้สิทธิ์เป็นผู้ถือครองปราสาทแทน

ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ

หลังจากที่โนบุนากะเนรเทศโยชิอากิออกไปแล้ว เขาก็ได้สั่งให้สร้างปราสาท (“อาซูจิ”) อันงดงามขึ้นในพื้นที่ของแคว้นอาซูจิซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเกียวโต ทั้งยังรับเอาขุนนาง (ไดเมียว) จากแคว้นต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เพิ่มอีกมากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเขาต้องมาพบจุดจบเสียก่อน เพราะถูก “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” ขุนพลคนสนิทหักหลังโดยการยกทัพลอบเข้าโจมตีและสังหารลง ณ “วัดฮนโน-จิ” ในกรุงเกียวโตนั้นเอง

จากนั้นผู้ที่รับช่วงต่อจากโนบุนากะ และสามารถรวมชาติให้เป็นหนึ่งได้สำเร็จก็คืออดีตขุนพลคนหนึ่งของเขานามว่า “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” หลังฮิเดโยชิสามารถสังหารมิตสึฮิเดะศัตรูของอดีตนายเหนือหัวลงได้ เขาก็ตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้สืบทอดอำนาจอย่างเป็นทางการและสั่งให้สร้างปราสาทโอซาก้าขึ้นมา แต่ “โนบุคัตสึ” ลูกชายคนที่สองของโนบุนากะได้ลุกขึ้นต่อต้านโดยมี โทคุงาวะ อิเอยาสุ ฝ่ายพันธมิตรของโนบุนากะช่วยหนุนหลัง แล้วยกทัพไปเผชิญหน้ากันที่ชายแดนแคว้นโนบิ (เกิดเป็น “ยุทธการโคมาคิและนากาคูเตะ”) ซึ่งสงครามดังกล่าวกินเวลาเกินกว่าครึ่งปี โดยฝ่ายที่เป็นต่ออยู่คือกองทัพของอิเอยาสุกับโนบุคัตสึ แต่ในที่สุดฮิเดโยชิกับโนบุคัตสึก็ยอมสมานฉันท์กันได้ อิเอยาสุจึงถอนทัพกลับไปถือเป็นอันสิ้นสุดการรบ ต่อมาฮิเดโยชิใช้เวลาเพียงแค่ 8 ปี ก็สามารถรวมชาติเข้าด้วยกันและสร้างระบอบการปกครองที่มั่นคงได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามหลังฮิเดโยชิเสียชีวิตลง ลูกน้องคนสนิทผู้จงรักภักดีของเขาอย่าง “อิชิดะ มิตสึนาริ” และพวกพ้องซึ่งต้องการจะรักษากฎเกณฑ์ที่ฮิเดโยชิวางเอาไว้ก็ตั้งใจจะยกทัพไปปราบ โทคุงาวะ อิเอยาสุ ผู้ที่ไม่ยอมปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้วหวังจะตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่เสียเอง เมื่ออิเอยาสุทราบเรื่องจึงได้ร่วมมือกับเหล่าไดเมียวฝ่ายตรงข้ามกับตระกูลอิชิดะและยกทัพออกไปหวังจะล้มมิตสึนาริด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองทัพเผชิญหน้ากัน (เกิดเป็น “ยุทธการเซคิกาฮาระ”) ที่ทุ่งเซคิกาฮาระ (จ.กิฟุ) กองทัพของมิตสึนาริ (“ทัพตะวันตก”) มีพลทหารราว 84,000 คน ส่วนกองทัพของอิเอยาสุ (“ทัพตะวันออก”) มีพลทหารราว 74,000 คน นับได้ว่าเป็นศึกชี้ชะตาครั้งสำคัญครั้งหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์เลยทีเดียว แต่เพราะในกองทัพของมิตสึนาริมีทั้งคนทรยศและทหารหนีทัพอยู่ไม่น้อย ยังผลให้สงครามซึ่งกินเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมงจบลงโดยที่ชัยชนะตกเป็นของฝ่ายอิเอยาสุไปโดยปริยาย

ความนิยมในการสร้างปราสาทให้มีคูน้ำกว้างล้อมรอบ มีหอคอยประจำปราสาทขนาดใหญ่ และมีกำแพงหินที่สูงชันนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ โอดะ โนบุนากะ สั่งให้สร้างปราสาทกิฟุ (ค.ศ. 1567) และปราสาทอาซูจิ (ค.ศ. 1576) นอกจากนี้ปราสาทหลายหลังยังมีสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างรอบนอก (โซวกะมาเอะ) ซึ่งก็คือเมืองใต้ตัวปราสาทที่มีคูเมืองหรือสิ่งต่าง ๆ ล้อมเอาไว้โดยมีตัวปราสาทเป็นศูนย์กลางการปกครอง และสิ่งที่ผู้คนถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์เป็นหน้าเป็นตาของปราสาทก็คือตัวหอคอยหลักนั่นเอง ยิ่งมันมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจบารมีและความร่ำรวยของผู้ครอบครอง ทำให้บางทีก็ช่วยให้สามารถเจรจาจบข้อขัดแย้งได้โดยไม่จำเป็นต้องสู้รบกันเลย

จากแนวทางการสร้างปราสาทที่โนบุนากะเป็นคนริเริ่มนั้น ภายหลังทั้ง โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และ โทคุงาวะ อิเอยาสุ ต่างก็รับสืบทอดต่อกันมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นต้นแบบให้เหล่าปราสาทในยุคปัจจุบัน

1584กลายเป็นสมรภูมิรบจุดเริ่มต้นของยุทธการโคมาคิและนากาคูเตะ

“ยุทธการโคมาคิและนากาคูเตะ” เริ่มต้นจากที่กองทัพของฮิเดโยชิจะบุกเข้ายึดครองปราสาทอินุยามะซึ่งในเวลานั้น “โอดะ โนบุคัตสึ” เป็นเจ้าของปราสาทอยู่ และลูกน้องคนสำคัญของเขานามว่า “นาคางาวะ ซาดะนาริ” ก็อยู่ระหว่างไปออกรบที่แคว้นอิเซะ นับว่าตกอยู่ในสถานการณ์เข้าตาจนขาดขุนพลอย่างแท้จริง หนำซ้ำ อิเคดะ ทสึเนะโอกิ ที่ควรจะช่วยสนับสนุนโนบุคัตสึก็ดันทรยศไปเข้ากับฝ่ายฮิเดโยชิ เขาชี้จุดบอดทางทิศเหนือของปราสาทอินุยามะที่ตนเคยถือครองอยู่ให้ศัตรูทราบ และยกทัพข้ามแม่น้ำคิโซะบุกเข้าตีภายในปราสาทจนแตก หลังฮิเดโยชิได้ชัยชนะและเข้ายึดปราสาทสำเร็จเขาก็มีท่าทีเป็นศัตรูกับอิเอยาสุซึ่งตั้งทัพอยู่ที่ปราสาทโคมาคิยามะมาโดยตลอด จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายสามารถหาทางสงบศึกกันได้โดยต่างก็เสียหายหนักทั้งคู่ แล้วตัวปราสาทอินุยามะจึงถูกยกคืนให้ โอดะ โนบุคัตสึ ไป

1600กลายเป็นสมรภูมิรบแนวหน้าก่อนการเปิดศึกยุทธการเซคิกาฮาระ

“อิชิคาวะ ซาดาคิโยะ” (หรืออีกนามหนึ่ง “มิตสึโยชิ”) ผู้เป็นเจ้าของปราสาท ณ ขณะนั้น ด้วยความที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยการปกครองของฮิเดโยชิเลยแน่นอนว่าเขาต้องเข้าร่วมกับทัพตะวันตกของ อิชิดะ มิตสึนาริ ทว่าฝั่งทัพตะวันออกของ โทคุงาวะ อิเอยาสุ ก็มี “ฟุคุชิมะ มาซาโนริ” ผู้ครอง “ปราสาทคิโยซุ” ปราสาทอีกหลังหนึ่งในแคว้นโอวาริอยู่เป็นพวกด้วยเช่นกัน ปราสาทอินุยามะเลยต้องกลายมาเป็นฐานที่มั่นในแนวหน้าของกองทัพตะวันตกและถูกเสริมกำลังเพิ่มการป้องกันอย่างแน่นหนา แต่ด้วยแผนเกลี้ยกล่อมของ “อี้ นาโอมาสะ” นายพลอาวุโสของอิเอยาสุ ก็ได้ทำให้ขุนพลหลายนายในกองกำลังเสริมเหล่านั้นแปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายทัพตะวันออกแทน เจ้าของปราสาทอย่างซาดาคิโยะจึงพ่ายแพ้หมดรูปถูกบีบให้ถอนทัพออกจากปราสาทไปอย่างไม่มีทางเลือก

จากนั้นก็เกิดเป็นศึกที่ปราสาทกิฟุในแคว้นมิโนะ โดยกองทัพตะวันออกได้โจมตีต่อเนื่องไล่ต้อนจนอีกฝ่ายต้องถอยร่นไปถึงทุ่งเซคิกาฮาระในเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ หลังเปิดฉากรบพุ่งกันแล้ว “โองาซาวาระ โยชิตสึงุ” คนของฝ่ายอิเอยาสุก็บุกเข้ายึดครองปราสาทได้โดยสมบูรณ์

ยุคเอโดะ

โทคุงาวะ อิเอยาสุ หลังได้รับชัยชนะในยุทธการเซคิกาฮาระก็ได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุด พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นเอโดะ (“รัฐบาลโชกุนเอโดะ”) และคอยใช้อำนาจทางการทหารในกำมือเข้าควบคุมเหล่าขุนนางเอาไว้ โดยมีบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ที่คิดแข็งข้อหรือไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งจะถูกปลดออกจากตำแหน่งและโดนริบทรัพย์สินที่ดินคืน ซึ่งภายหลังจากทำศึกกับตระกูลโทโยโทมิ (“การปิดล้อมโอซาก้า”) และกำจัดฝ่ายตรงข้ามลงจนไม่เหลือเสี้ยนหนามแล้ว รัฐบาลโชกุนก็ประกาศออกกฎหมายซามูไรว่าด้วยการกำหนดให้ในหนึ่งแคว้นมีปราสาทได้เพียงแค่หลังเดียวเท่านั้น และมีการเพิ่มข้อบังคับอีกหลายประการเพื่อให้ง่ายต่อการปกครองเหล่าขุนนางใต้อาณัติ

ทว่าเมื่อชาวบ้านต้องทนทุกข์จากการโดนใช้กำลังทหารกดขี่มานานก็ไม่แปลกที่วันหนึ่งพวกเขาจะเลือกจับอาวุธและลุกฮือขึ้นก่อกบฏ ประกอบกับความปลอดภัยของสังคม ณ ขณะนั้นเริ่มสั่นคลอนอย่างหนักเนื่องจากซามูไรหลายคนต้องกลายเป็นนักรบตกอับเร่ร่อน (“โรนิน”) เพราะสูญเสียเจ้านายไปใต้น้ำมือของรัฐบาล กระทั่งเกิดเป็นความพยายามจะล้มล้างรัฐบาลโชกุน

ด้วยเหตุนั้นเองทำให้รัฐบาลโชกุนพยายามจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของซามูไรเสียใหม่ จากเดิมที่เคยวัดกันที่พละกำลังก็ทดแทนด้วยการปลูกฝังให้มีมารยาทและรู้จักเคารพให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสเป็นหลัก นับแต่นั้นมาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นประเทศ (รัฐบาลโชกุน) ที่พยายามจะปกป้องดูแลประชาชนไว้อย่างดี ทั้งยังช่วยประคับประคองชาติให้รอดพ้นจากความอดอยากและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ นา ๆ จนถึงขนาดเรียกขานกันว่าเป็น “Pax Tokugawana (สันติภาพของโทคุงาวะ)” หรือยุคแห่งความสงบสุขไร้สงครามเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามด้วยความที่รัฐบาลโชกุนยอมค้าขายกับต่างชาติอยู่เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น จึงเกิดเป็นความโกลาหลขึ้นมาเมื่อมีการกดดันจากชาติตะวันตกเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเสียที จนรัฐบาลโชกุนจำต้องเปิดประเทศเพื่อเลี่ยงสงคราม แต่นั่นก็เป็นตัวจุดชนวนให้เหล่าซามูไรที่ไม่พอใจในท่าทีดังกล่าวออกมาขับไล่ชาวต่างชาติและพยายามจะโค่นล้มรัฐบาลโชกุนที่เริ่มอ่อนแอลง นำไปสู่การเกิดสงครามข้อพิพาทกับกองทัพของชาติตะวันตก (“เหตุการณ์ที่ช่องแคบชิโมโนเซกิ” และ “การระดมยิงคาโกชิม่า”) ที่แคว้นโจชู (จ.ยามากุจิ) และแคว้นซัตสึมะ (จ.คาโกชิม่า) ซึ่งผลที่ออกมาคือญี่ปุ่นต้องพบกับความปราชัยในศึกทั้งคู่ คนจึงเริ่มตระหนักได้ถึงแสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่าของกองทัพชาติตะวันตกแล้วเบนเข็มไปสู่การก่อกบฏล้มล้างรัฐบาลโชกุนแทน

ต่อมา “โชกุนโยชิโนบุ” ถูกกลุ่มกบฏต้อนเสียจนมุมเลยตัดสินใจคืนอำนาจการปกครองให้ฝ่ายราชสำนักเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง (“การถวายคืนพระราชอำนาจต่อจักรพรรดิเมจิ”) ทว่ากลุ่มกบฏนั้นกลัวว่าโยชิโนบุจะย้อนรอยฟื้นคืนอำนาจกลับมาอีกจึงพยายามจะก่อเหตุปฏิวัติทางการเมืองและเข้าควบคุมราชสำนักเอาไว้ โดยการประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นเสียเอง (“พระราชกฤษฎีกาฟื้นฟูอำนาจสถาบันกษัตริย์”) ในจังหวะเดียวกับที่โยชิโนบุมีกำหนดจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่น และจะให้เวนคืนอาณาเขตที่ดินของตนอยู่พอดี (ลาออกและคืนที่ดิน) ลงท้ายเลยกลายเป็นการปะทะกันระหว่างฝ่าย “กองทัพรัฐบาลโชกุนเก่า” กับ “กองทัพรัฐบาลใหม่” (“ยุทธการโทบะ–ฟูชิมิ”) รบกันต่อเนื่องไปจนกระทั่งทัพรัฐบาลโชกุนเก่ายอมจำนนที่ “โกเรียวคาคุ” ป้อมปราการรูปดาวในแคว้นฮาโกดาเตะ (“สงครามโบชิน”)

  • 1800

หลังจบยุทธการที่เซคิกาฮาระ ก็ได้เกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินครั้งใหญ่และการตบรางวัลต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้มีการสร้างปราสาทเพิ่มขึ้นในอีกหลายแห่งทั่วประเทศ บรรดาเหล่าปราสาทที่ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบันก็มีหลายหลังที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงนี้เอง

แต่แล้วภายหลังการปิดล้อมโอซาก้า รัฐบาลโชกุนก็ประกาศออกกฎหมาย " 1แคว้น 1 ปราสาท" โดยมีใจความว่าจะอนุญาตให้ในหนึ่งแคว้นมีปราสาทได้เพียงแค่หลังเดียวเท่านั้น ส่วนหลังอื่น ๆ ที่เหลือต้องโดนทุบทิ้ง ทั้งยังมี "กฎหมายซามูไร (บูเคะ โชฮัตโตะ - Buke shohatto)" ซึ่งไม่ใช่แค่ห้ามไม่ให้สร้างปราสาทหลังใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกแล้วเท่านั้น มันยังเป็นการสั่งห้ามไม่ให้ก่อสร้างต่อเติมใด ๆ นอกเหนือไปจากการซ่อมแซมกับปราสาทหลังเก่า ๆ อีกด้วย

เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้ปราสาทญี่ปุ่นค่อย ๆ สูญหายไปเรื่อย ๆ

1617ตระกูลนารุเซะถือครองปราสาทอินุยามะ

“นารุเซะ มาซานาริ” ขุนนางผู้อาวุโสซึ่งคอยรับใช้ “ตระกูลโอวาริ-โทคุงาวะ” อย่างภักดีมาโดยตลอดจนได้รับปราสาททั้งหลังเป็นการตบรางวัล แล้วหอคอยปราสาทก็ถูกปรับแต่งเติมจนกลายเป็นดั่งเช่นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ โดยตระกูลนารุเซะได้ถือครองปราสาทมาอย่างยาวนานจนถึงช่วงสิ้นสุดการปกครองจากโชกุนของตระกูลโทคุงาวะคนสุดท้ายเลยทีเดียว

ยุคเมจิ

ในระหว่างการต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลโชกุนเก่า รัฐบาลใหม่ก็ได้ประกาศออก “กฎบัตรปฏิญญาห้าประการ” อันเป็นรากฐานของตัวรัฐบาลใหม่ซึ่งต้องการให้ยึดเอาจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางของอำนาจ ทั้งยังเปลี่ยนชื่อเมืองเอโดะเป็น “กรุงโตเกียว” และตั้งชื่อเรียกปีศักราชใหม่ว่า “เมจิ” รวมถึงกำหนดให้กรุงโตเกียวเป็นเมืองหลวงใหม่ ย้ายทั้งรัฐบาลและตัวจักรพรรดิเองก็ทรงเสด็จไปด้วยพร้อมกัน นอกจากนี้ยังยกเลิกการปกครองแบบแบ่งเป็นแว่นแคว้นแล้วเปลี่ยนให้เป็นจังหวัดแทน ซึ่งก็คือ “การเรียกคืนเขตปกครองจากระบอบศักดินา” (廃藩置県 – ไฮฮังฉิเค็ง) พร้อมกับให้นำที่ดินและพลเรือนถวายคืนแด่พระจักรพรรดิ เรียกกันว่า “การถวายคืนที่ดินและพลเรือนให้พระเจ้าอยู่หัว (版籍奉還 – ฮังเซกิโฮคะ)” เพื่อสร้างระบอบการปกครองใหม่ที่รัฐบาลกลางจะเป็นผู้กำหนดทุกอย่างด้วยตัวเอง เช่น การเลือกตัวผู้ว่าราชการจังหวัด หรือการออกคำสั่งบริหารจัดการแต่ละจังหวัด เป็นต้น

กับแต่เดิมที่เคยแบ่งแยกชนชั้น นับเจ้าผู้ครองแคว้นหรือข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดราชสำนักว่าเป็นชนชั้นสูง และนับซามูไรว่าเป็นตระกูลนักรบ ซึ่งจะถือว่ามีสถานะเหนือกว่าคนอื่นอย่างชาวเกษตรกรหรือชาวกรุงทั่วไป ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงพยายามลดช่องว่างระหว่างชนชั้นลงให้กลายเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยนโยบายต่าง ๆ เช่น การห้ามพกพาดาบเว้นเฉพาะแต่ในกรณีพิเศษเท่านั้น (จากพระราชกฤษฎีกาห้ามพกดาบ) แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีซามูไรหลายคนเคยชินกับการพกดาบไว้กับตัวถึงสองเล่มเลยก็ตาม และมีการเพิกถอนสิทธิพิเศษสำหรับซามูไรลงทั้งหมดอีกด้วย

  • 1900

ปราสาททั้งหลายกลายเป็นสมบัติของชาติเพราะการเรียกคืนเขตปกครองจากระบอบศักดินา พวกมันถูกคัดแยกประเภทออกจากกันโดยดูว่าเป็นปราสาทที่ยังพอมีความจำเป็นให้เก็บไว้ใช้เป็นฐานที่มั่นของกองทัพได้หรือไม่ แล้วแต่ละหลังก็ถูกถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ไปให้กองทัพบกกับกระทรวงการคลังจัดสรรกันเข้าควบคุมดูแล จากนั้นปราสาทบางส่วนก็โดนรื้อถอนนำไปใช้สร้างใหม่เป็นอาคารค่ายทหารบ้าง โดนขายให้กับเทศบาลแล้วเปลี่ยนโฉมเป็นโรงเรียนหรือหน่วยงานราชการบ้าง แล้วจำนวนปราสาทก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก

1871โดนรื้อทิ้งจนเหลือเพียงแค่หอคอยปราสาท

ด้วยการเรียกคืนเขตปกครองจากระบอบศักดินาทำให้ถือว่าตัวปราสาทตกเป็นสมบัติของจ.ไอจิ และสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่นอกเหนือจากหอคอยปราสาทก็ถูกรื้อทิ้งเสียหมด โดยโครงสร้างที่โดนรื้อออกมาหลายชิ้นถูกนำไปขายต่อและย้ายไปไว้ยังที่ต่าง ๆ อย่างเช่น “ประตูยาไร่-มง” (矢来門) ซึ่งทำจากไม้ไผ่และท่อนซุงก็กลายไปเป็นประตูประจำทิศตะวันออกของวัดเซนจู-อินในเมืองฟุโซ “ประตูคุโร-มง” (黒門) ซึ่งถูกฉาบทาด้วยสีดำก็กลายไปเป็นของวัดโทคุริน-จิในเมืองโองูจิ “ประตูมัตสึโนะมารุ-มง” (松ノ丸門) ก็กลายไปเป็นของวัดโจเร็น-จิ “ประตูอุจิดะ-มง” (内田門) ที่ว่ากันว่าเป็นประตูหน้าของปราสาทก็กลายไปเป็นของวัดซุยเซน-จิ และต่างก็ยังหลงเหลือกันอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

1891เกิดเหตุแผ่นดินไหวโนบิทำให้หอคอยปราสาทเสียหายไปครึ่งหนึ่ง

เพราะ "แผ่นดินไหวโนบิ" ซึ่งมีขนาดถึง 8.4 ทำให้ครึ่งหนึ่งของหอคอยปราสาทถล่มลงมาเกิดเป็นความเสียหายใหญ่หลวง ในปี ค.ศ. 1895 ทางจังหวัดจึงมอบหมายให้ครอบครัวนารุเซะซึ่งเป็นอดีตตระกูลขุนนางผู้ครองแคว้นเข้าไปซ่อมแซม และด้วยเงินบริจาคของครอบครัวนารุเซะเองกับเหล่าชาวเมืองอินุยามะก็ทำให้สามารถฟื้นฟูหอคอยปราสาทจนกลับมาคงสภาพสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

ยุคไทโช

ยุคโชวะ

ในปี ค.ศ. 1940 แม้จะยังหลงเหลือหอคอยปราสาทอยู่ถึงกว่า 20 หลัง แต่ต่อมาญี่ปุ่นก็ถูกโจมตีทางอากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เหลือหอคอยปราสาทที่รอดพ้นจากการโดนเผาทำลายและอยู่มาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้แค่เพียง 12 หลัง เท่านั้น ได้แก่ ปราสาทฮิโรซากิ, ปราสาทมัตสึโมโตะ, ปราสาทมารุโอกะ, ปราสาทอินุยามะ, ปราสาทฮิโกเนะ, ปราสาทฮิเมะจิ, ปราสาทมัตสึเอะ, ปราสาทบิจจู-มัตสึยามะ, ปราสาทมารุงาเมะ, ปราสาทมัตสึยามะ, ปราสาทอุวาจิมะ และปราสาทโคจิ

1952ได้รับการยอมรับให้เป็นสมบัติประจำชาติของญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ. 1935 ปราสาทอินุยามะถูกกำหนดให้เป็นสมบัติประจำชาติญี่ปุ่นด้วย "พระราชบัญญัติสงวนรักษาสมบัติแห่งชาติ" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1952 จึงถูกยกขึ้นเป็น "สมบัติประจำชาติ" อย่างเป็นทางการอีกครั้งตามกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

1965รื้อถอนซ่อมแซมเสร็จสมบูรณ์

ในปี ค.ศ. 1959 ปราสาทอินุยามะได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นที่อ่าวอิเซะ และต้องถูกรื้อถอนซ่อมแซมใหม่ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1961~ 1965 ซึ่งจากการสำรวจ ณ เวลานั้นเผยให้เห็นว่าตอนแรกหอคอยปราสาทถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเพียงแค่ 2 ชั้นหลังคาธรรมดา ก่อนจะถูกต่อเติมให้เป็นรูปแบบหอสังเกตการณ์ซ้อนสูงขึ้นไปด้านบน ตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนรูปทรงกระดานปิดหน้าหลังคาใต้หอสังเกตการณ์เหล่านั้นให้เป็นทรงจีน (คาระ-ฮะฟุ) จนกลายมาเป็นเหมือนอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ยุคเฮเซ

  • 2000

2004อยู่ภายใต้การดูแลของ “อินุยามะโจ-ฮาคุเทอิบุงโค”

ปราสาทอินุยามะเดิมเคยเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในฐานะทรัพย์สินส่วนบุคคล จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2004 มันจึงได้ถูกถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของ “มูลนิธิอินุยามะโจ-ฮาคุเทอิบุงโค” (ปัจจุบันคือองค์กรสาธารณประโยชน์) และได้รับการดูแลอย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน

ปราสาทอินุยามะเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันแสนล้ำค่าของประเทศญี่ปุ่น คอยให้การต้อนรับแก่ผู้มาเยือนในแต่ละวันภายใต้การเฝ้ารักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม. ทั้งยังมีการทำความสะอาดและดูแลที่เหมาะสมอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยเจ้าหน้าที่ของเมืองอินุยามะ เพื่อทำนุบำรุงให้ตัวปราสาทยังคงสภาพไว้เฉกเช่นเดิมและสามารถส่งมอบต่อไปสู่มือคนรุ่นใหม่ในอนาคตข้างหน้าได้